Print Friendly and PDF


VPA เพิ่มความชัดเจนของกฎหมายและสถาบันได้อย่างไร

ทำไมความชัดเจนจึงมีความสำคัญ

ความชัดเจนทางด้านกฎหมายและความชัดเจนด้านสถาบันหมายความว่าข้อกำหนดทางกฎหมายและบทบาทรวมถึงความรับผิดชอบด้านสถาบันมีความชัดเจนและไม่ขัดแย้งกันเอง ความชัดเจนเป็นสิ่งที่สำคัญของธรรมาภิบาลป่าไม้ที่ดีเนื่องจากช่วยให้ผู้มีส่วนได้เสียเข้าใจในสิทธิ ความรับผิดชอบ และภาระผูกพันต่างๆ

ความชัดเจนในกรอบกฎหมายสามารถช่วยให้ประเทศสามารถมีเครื่องมือด้านการกำกับดูแลที่ไม่ซับซ้อนและคงเส้นคงวา ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียสามารถเข้าใจได้ง่าย ความชัดเจนดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับระดับของความโปร่งใส และเป็นรากฐานของพันธะความรับผิดชอบ

ในทางกลับกัน หากไม่มีความชัดเจนในภาคป่าไม้ของประเทศก็จะทำให้เกิดปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และ/หรือสิ่งแวดล้อมได้ โดยปัญหาอาจเกิดขึ้นเมื่อไม่มีความชัดเจนในเรื่องต่อไปนี้

  • ใครมีสิทธิในที่ดินและต้นไม้
  • อะไรคือไม้ถูกกฎหมายและอะไรที่ไม่ใช่
  • กฎหมายใดบ้างที่จะสามารถใช้กับสถานการณ์หนึ่งๆ หากมีกฎหมายที่ขัดแย้งกันหลายฉบับ
  • บริษัทไม้ใดที่มีข้อผูกพันที่จะตอบแทนต่อชุมชนท้องถิ่น
  • สถาบันใดที่รับผิดชอบในแต่ละด้านของธรรมาภิบาลป่าไม้

ดังนั้นความชัดเจนจึงเกี่ยวข้องโดยตรงกับข้อตกลงการเป็นหุ้นส่วนด้วยความสมัครใจ (VPA) และระบบการประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ของข้อตกลงเหล่านี้

VPA สามารถเพิ่มความชัดเจนได้อย่างไร

ส่วนประกอบที่ถือว่ามีนัยสำคัญของกระบวนการ VPA คือการสนทนาแลกเปลี่ยนของผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่ายเพื่อตกลงยินยอมว่าสิ่งใดบ้างที่ทำให้ไม้เป็นไม้ถูกกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียจะถกอภิปรายแลกเปลี่ยนกันในการทบทวนกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่ในประเทศส่งออกไม้เพื่อระบุว่ากฎหมายและระเบียบข้อบังคับใดบ้างที่จะรวบรวมไว้ในนิยามความถูกต้องตามกฎหมายของ VPA การสนทนาแลกเปลี่ยนเหล่านี้เป็นโอกาสสำหรับผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องป่าไม้ที่จะระบุถึงข้อกำหนดทางกฎหมายและ/หรือการจัดระเบียบทางสถาบันที่คลุมเครือและไม่สอดคล้องกัน

เพื่อให้การสนทนาแลกเปลี่ยนเกิดขึ้นได้ ประการแรกผู้มีส่วนได้เสียจำเป็นต้องสามารถเข้าถึงและเข้าใจกฎหมายที่มีอยู่ จากนั้นผู้มีส่วนได้เสียจึงสามารถถกอภิปรายกฎหมาย โดยเริ่มจากการถกอภิปรายภายในกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียแต่ละกลุ่มเองและจากนั้นร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียกลุ่มอื่นๆ เพื่อมุ่งเน้นไปที่ความไม่สอดคล้องกันของกฎหมายและเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ดังนั้นกระบวนการที่จะเพิ่มความชัดเจนจะขึ้นอยู่กับทั้งการมีส่วนร่วมและระดับของความโปร่งใส

จนถึงปัจจุบัน การพิจารณาหารืออย่างรอบคอบของผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนิยามความถูกต้องตามกฎหมายในกระบวนการ VPA ได้ระบุถึงความขัดแย้งในเรื่องต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • การเแปลความกฎหมายของขั้นตอนในการตัดไม้
  • กฎหมายเกี่ยวกับการจัดสรรสัญญา กฎหมายหนึ่งกำหนดให้เป็นการประมูลแข่งขัน ขณะที่อีกกฎหมายหนึ่งอนุญาตให้รัฐมนตรีใช้ดุลยพินิจ
  • ความรับผิดชอบของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐที่เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

บ่อยครั้งที่กระบวนการจัดทำนิยามความถูกต้องตามกฎหมายจะเผยให้เห็นถึงความไม่คงเส้นคงวา ความขัดแย้งกันเอง และ/หรือ การทับซ้อนกันของกฎหมายและระเบียบข้อบังคับต่างๆ ของประเทศดังกล่าว ดังนั้นกระบวนการนี้จึงสามารถระบุถึงการปฏิรูปกฎหมายที่จำเป็นในการพัฒนานิยามความถูกต้องตามกฎหมายซึ่งจะทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายพอใจ ยกตัวอย่างเช่น VPA ได้ระบุถึงการปฏิรูปกฎหมายและ/หรือระเบียบข้อบังคับที่จำเป็นเพื่อให้เกิดการยอมรับในสิทธิ์ตามจารีตประเพณี ป่าชุมชน และตลาดภายในประเทศ

นอกเหนือจากการเพิ่มความชัดเจนทางด้านกฎหมายแล้ว กระบวนการ VPA ยังช่วยเพิ่มความชัดเจนในทางสถาบันอีกด้วย ภาคผนวกต่างๆ ของ VPA ซึ่งบรรยายถึงระบบการประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ คณะกรรมการดำเนินงานร่วม ใบรับรอง FLEGT การตรวจสอบที่เป็นอิสระ และข้อมูลสาธารณะ ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดความชัดเจนว่าใครมีความรับผิดชอบในเรื่องอะไร บทบาทและความรับผิดชอบที่ชัดเจนเป็นพื้นฐานของพันธะความรับผิดชอบที่ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นในภาคป่าไม้

ตัวอย่าง ความชัดเจนด้านกฎหมายในประเทศอินโดนีเซีย

ในอินโดนีเซีย มีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับมากกว่า 900 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับภาคป่าไม้ ไม่เพียงแต่จำนวนกฎหมายเท่านั้น แต่ตัวกฎหมายเองก็ยังมีความสับสนและในบางครั้งก็ไม่สอดคล้องกัน

ในปี 2003 หรือสี่ปีก่อนที่การเจรจา VPA จะเริ่มขึ้น องค์กรภาคประชาสังคมได้เริ่มกระบวนการที่จะทำให้เกิดความชัดเจนในกฎหมายป่าไม้และพัฒนานิยามความถูกต้องตามกฎหมาย การมีส่วนร่วมของรัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมในกระบวนการนี้เพิ่มมากขึ้นหลังจากการเจรจา VPA เริ่มต้นในปี 2007 เมื่อถึงปลายปี 2008 กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียหลายฝ่ายได้นำเสนอนิยามความถูกต้องตามกฎหมายและข้อเสนอเกี่ยวกับระบบการประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้แก่รัฐบาล ภายในเวลาหกเดือนรัฐบาลและผู้มีส่วนได้เสียได้ปรับปรุงแก้ไขข้อเสนอและรวมข้อเสนอเหล่านี้ไว้ในกฎหมายฉบับใหม่

ท่ามกลางกฎหมายที่มีอยู่หลายร้อยฉบับ ผู้มีส่วนได้เสียได้ระบุข้อกฎหมายและระเบียบข้อบังคับจำนวนหนึ่งที่เมื่อใช้ร่วมกันแล้วจะให้นิยามความถูกต้องตามกฎหมายที่ตรงกับความต้องการของตน ภายใต้ VPA อินโดนีเซียมีมาตรฐานการควบคุมห่วงโซ่อุปทานเพียงหนึ่งเดียวและมีนิยามความถูกต้องตามกฎหมายสำหรับพื้นที่ป่าเจ็ดแบบ

กระบวนการ VPA ทำให้ความถูกต้องตามกฎหมายในภาคป่าไม้ของอินโดนีเซียชัดเจนขึ้นอย่างมาก VPA ให้ตัวชี้วัดและมาตรการตรวจพิสูจน์ที่ผู้ตรวจสอบสามารถใช้ในการประเมินความถูกต้องตามกฎหมาย นิยามความถูกต้องตามกฎหมายใหม่นี้ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถบังคับใช้กฎหมายและระบบศาลยุติธรรมสามารถดำเนินคดีต่อผู้ตัดไม้โดยผิดกฎหมายได้ง่ายขึ้น ภาคเอกชนได้ให้การยอมรับนิยามใหม่เหล่านี้นี้อย่างกว้างขวาง

ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ผู้มีส่วนได้เสียพหุภาคีได้ทบทวนระบบการประกันความถูกต้องตามกฎหมายของไม้ของอินโดนีเซียหลายต่อหลายครั้ง การทบทวนนี้พิจารณาบทเรียนจากการนำไปฏิบัติและผลลัพธ์เบื้องต้นของการประเมินระบบร่วมกันระหว่างสหภาพยุโรป-อินโดนีเซีย การทบทวนเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายที่ออกในปี 2009 ได้แก่การปรับลดภาระของผู้ผลิตไม้รายย่อยที่มีความเสี่ยงต่ำในการปฏิบัติตามกฎหมาย